ธปท.ยัน ค่าธรรมเนียมการโอนเงิน “PromptPay” ไม่เกิน 5 พัน ฟรีทุกรายการ หากเกิน 1 แสนคิดไม่เกิน 10 บาท ดีเดย์ 15 ก.ค.นี้

ธปท.ยันทุกแบงก์เตรียมเปิดตัวลงทะเบียน “PrompPay” บริการโอนเงิน- รับโอน โดยใช้เลขบัตร ปชช. และเบอร์มือถือ ดีเดย์ 15 ก.ค.นี้ ค่าธรรมเนียมการโอนไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีทุกรายการ และเพิ่มแบบขั้นบันได


ธปท.ยันทุกแบงก์เตรียมเปิดตัวลงทะเบียน “พร้อมเพย์” บริการโอนเงิน- รับโอน โดยใช้เลขบัตร ปชช. และเบอร์มือถือ ดีเดย์ 15 ก.ค.นี้ ค่าธรรมเนียมการโอนไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีทุกรายการ และเพิ่มแบบขั้นบันได โดยวงเงินที่มากกว่า 100,000 บาท จะคิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสถาบันการเงิน 21 แห่ง ร่วมเปิดให้บริการโอนเงิน และรับโอนเงินแบบใหม่ “พร้อมเพย์-PromptPay” หรือชื่อเดิม คือ “Any ID” เปิดให้ประชาชนใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเบอร์โทรศัพท์มือถือผูกกับบัญชีธนาคาร 1 เลขหมายต่อ 1 บัญชี โดยผูกบัญชีได้สูงสุด 4 เบอร์ ได้แก่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน 1 และหมายเลขโทรศัพท์มือถืออีกไม่เกิน 3 เบอร์ ซึ่งทุกคนสามารถโอนเงินระหว่างกันได้ โดยไม่ต้องจำเลขบัญชีเงินฝากธนาคาร

 

ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเปิดให้ลูกค้าสามารถลงทะเบียนผ่าน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย สาขาธนาคารพาณิชย์ ตู้เอทีเอ็ม อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง และโมบายแบงกิ้ง โดยบางธนาคารที่มีความพร้อมเริ่มลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 นี้ และจะพร้อมกันทุกธนาคารวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป โดยไม่มีการกำหนดสิ้นสุดการรับลงทะเบียน

อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ลงทะเบียนจะเปลี่ยนธนาคารที่ลงทะเบียนไว้สามารถยกเลิกกับธนาคารเดิม และไปลงทะเบียนกับธนาคารใหม่ หรือในกรณีที่ผู้ใช้บริการ “พร้อมเพย์” ต้องการเปลี่ยนแปลงหมายเลขบัญชี หรือหมายเลขโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนไว้แล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้บริการ “พร้อมเพย์” ผ่านโมบายแบงกิ้ง และอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ผ่านแอปพลิเคชัน ธนาคารบนมือถือได้ โดยผ่าน feature “พร้อมเพย์”

 

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ธปท. ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เปิดเผยว่า ประชาชนจะได้รับประโยชน์จาก “พร้อมเพย์” อย่างเต็มที่ ด้วยการได้รับเงินโอนระหว่างกันสะดวกมากขึ้น ขณะที่ยังสามารถรับเงินจากรัฐได้โดยตรง ด้วยการผูกบัญชีธนาคารกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น เงินสวัสดิการ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินคืนภาษีของกรมสรรพากร รวมทั้งยังมีความปลอดภัยกว่าการใช้เงินสด และค่าธรรมเนียมถูกกว่า ซึ่งจะเริ่มโอนเงินระหว่างประชาชนกับประชาชน

 

ด้าน นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ทุกธนาคารยืนยันในระบบความปลอดภัยของบริการโอนเงิน “พร้อมเพย์” ทั้งข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และระบบการชำระเงิน ขณะที่ค่าธรรมเนียมบริการ “พร้อมเพย์” จะถูกลง โดยการโอนเงินไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการ จะฟรีค่าธรรมเนียมทุกรายการ ส่วนวงเงินโอนเกิน 5,000-30,000 บาทต่อรายการ คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 2 บาทต่อรายการ วงเงินมากกว่า 30,000-100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 5 บาทต่อรายการ และวงเงินมากกว่า 100,000 บาท คิดค่าธรรมเนียมไม่เกิน 10 บาทต่อรายการ จากเดิมค่าธรรมเนียมการโอนเงินประมาณ 25-50 บาท โดยการให้บริการ “พร้อมเพย์” จะเริ่มให้บริการรับโอนระหว่างประชาชนเดือนตุลาคม 2559 นี้ จากนั้นจะทยอยสู่บริการอื่นๆ เช่น การจ่ายบิลต่อไป ส่วนค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอื่นๆ จะยังคงอัตราเดิมต่อไป เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมาใช้บริการ “พร้อมเพย์” ที่มีค่าธรรมเนียมถูกกว่า

 

นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนะนำให้ประชาชนใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนผูกกับบัญชีธนาคารในการใช้บริการ “พร้อมเพย์” เพื่อรับเงินสวัสดิการรัฐบาล เงินผู้มีรายได้น้อย และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น เพราะหากใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย และมีหลายเลขหมายอาจจะมีการตกหล่นในการรับเงินจากรัฐบาล

ส่วนความพร้อมของระบบไอที เพื่อรองรับการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง และโมบายแบงกิ้ง เพิ่มขึ้นนั้น ธนาคารมีความพร้อมเต็มที่ และจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559

 

 

 

ที่มา: www.manager.co.th